มอก. 2879-2560   แบตเตอรี่สำรองไฟฟ้าสำหรับการใช้งานแบบพกพา - คุณลักษณะที่ต้องการด้านความปลอดภัย (วันที่มีผลบังคับใช้ 16 พ.ย. 63)
ขอบข่าย
- มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมนี้ครอบคลุมถึงคุณลักษณะที่ต้องการด้านความปลอดภัยของแบตเตอรี่สำรองไฟฟ้าสำหรับการใช้งานแบบพกพา ซึ่งเป็นอุปกรณ์จัดเก็บพลังงานแบบพกพาที่มีแบตเตอรี่ทุติยภูมิและมีวงจรอัดประจุไฟฟ้า ที่มีแรงดันไฟฟ้าด้านออกกระแสตรงไม่เกิน 6 V อย่างน้อย 1 ช่องทาง ซึ่งรวมถึงแบตเตอรี่สำรองไฟฟ้าที่รองรับระบบการจ่ายแรงดัน ไฟฟ้าด้านออกสำหรับการอัดประจุแบบรวดเร็ว (Quick Charge) เพื่ออัดประจุไฟฟ้าให้แก่อุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และต่อไปในมาตรฐานนี้จะเรียกว่า “แบตเตอรี่สำรองไฟฟ้า”
- มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมนี้ครอบคลุมการใช้งานแบตเตอรี่สำรองไฟฟ้าตามที่เจตนาไว้และการใช้งานผิดที่คาดหมายไว้อย่างมีเหตุผล
ไม่ครอบคลุมถึง
- บริภัณฑ์ไฟฟ้าที่มีแบตเตอรี่ในตัวที่สามารถจ่ายพลังงานให้แก่อุปกรณ์อื่นได้ ซึ่งความสามารถในการจ่ายพลังงานไม่ได้เป็นหน้าที่หลักของบริภัณฑ์นั้น เช่น ลำโพงพกพาที่มีช่องทางจ่ายพลังงาน คอมพิวเตอร์พกพา
- แบตเตอรี่สำรองไฟฟ้าที่มีแรงดันไฟฟ้าด้านออกกระแสตรงสูงกว่า 6 V ทุกช่องทาง เช่น สำหรับใช้เริ่มเดินเครื่องรถยนต์
- ระบบกำลังไฟฟ้าต่อเนื่อง (ยูพีเอส)
บทนิยามและรายละเอียดอื่นๆ ของผลิตภัณฑ์ให้ดูเพิ่มเติม มอก.2879-2560

ข้อความในฉลาก
แบตเตอรี่สำรองต้องมีรายละเอียดของเครื่องหมายดังต่อไปนี้
- ชื่อผู้ทำหรือผู้จัดจำหน่าย เครื่องหมายการค้าหรือเครื่องหมายชี้บ่ง และประเทศที่ทำ
-แบบรุ่น หรือแบบอ้างอิง และหมายเลขลำดับเครื่องหรือหมายเลขลำดับการทำสัญลักษณ์ (IEC 60417-5172
(DB:2003-02)) สำหรับบริภัณฑ์ประเภท II เท่านั้น
- แรงดันไฟฟ้าด้านเข้าที่กำหนด เป็นโวลต์ (V)
- แรงดันไฟฟ้าด้านออกกระแสตรงที่กำหนด เป็นโวลต์(V)
- กระแสไฟฟ้าด้านเข้าที่กำหนด เป็นมิลลิแอมแปร์ (mA) หรือแอมแปร์ (A)
- กระแสไฟฟ้าด้านออกที่กำหนด เป็นมิลลิแอมแปร์ (mA) หรือแอมแปร์ (A)
- ความถี่ด้านเข้าที่กำหนด หรือพิสัยความถี่ที่กำหนด เป็นเฮิรตซ์ (Hz) นอกจากแบตเตอรี่สำรองไฟฟ้าออกแบบไว้
สำหรับกระแสตรงเท่านั้น
- ความจุไฟฟ้าที่กำหนด เป็นมิลลิแอมแปร์ชั่วโมง (mAh) หรือ แอมแปร์ชั่วโมง (Ah)
- เดือน/ปีที่ผลิต
นอกจากนี้ยังต้องมีข้อแนะนำการใช้งานที่เตรียมมากับแบตเตอรี่สำรองไฟฟ้าตามที่ระบุใน มอก.2879-2560
ข้อ 5.2 (ต้องเป็นภาษาไทย)
     ก) ข้อแนะนำการใช้งานทั่วไป
          - ความร้อนที่เกิดจากการอัดประจุไฟฟ้า การอัดประจุไฟฟ้าควรทำในบริเวณที่มีอากาศถ่ายเทได้ดี ไม่อัด
ประจุไฟฟ้าใต้หมอน ผ้าห่ม หรือบนพื้นผิวที่ติดไฟง่าย และไม่อัดประจุบนพื้นผิวที่เป็นโลหะ
          - ไม่ควรเก็บแบตเตอรี่สำรองไฟฟ้าไว้ใกล้แหล่งความร้อน รับแสงแดดโดยตรง แก๊สที่ติดไฟได้ ความชื้น น้ำ
หรือของเหลว
          - ไม่ควรถอดชิ้นส่วน เปิด เผา หรือสอดแทรกสิ่งแปลกปลอมเข้าไปในแบตเตอรี่สำรองไฟฟ้า
          - ไม่ควรให้แบตเตอรี่สำรองไฟฟ้าได้รับแรงกระแทก ถูกกดทับ ถูกงอ ถูกเจาะ
          - ไม่ทำให้แบตเตอรี่สำรองไฟฟ้าลัดวงจร หรือเก็บไว้ในบรรจุภัณฑ์ที่อาจลัดวงจรผ่านโลหะตัวนำอื่นๆ
          - ไม่ใช้งานหากเปียกหรือได้รับความเสียหายแบบอื่น เพื่อป้องกันการช็อกไฟฟ้า และการระเบิด
          - ควรอ่านข้อควรปฏิบัติที่ให้มากับแบตเตอรี่สำรองไฟฟ้า
     ข) ข้อแนะนำในการอัดประจุไฟฟ้า
     ค) ข้อมูลของการเกิดความร้อนในภาวการณ์ทำงานปกติของแบตเตอรี่สำรองไฟฟ้า
     ง) การกำจัดทิ้งอย่างเหมาะสม เช่น มีสัญลักษณ์ห้ามทิ้งในถังขยะ

สอบถามรายละเอียด
- การตรวจสอบ/กำกับดูแลผลิตภัณฑ์ : กองตรวจการมาตรฐาน 2 กลุ่ม 5   โทร. 0 2430 6823 ต่อ 1250
- การขอรับใบอนุญาต มอก. : กองควบคุมมาตรฐาน ก.4 (ไฟฟ้าส่องสว่าง กำลัง)   โทร. 0 2430 6821 ต่อ 1040
รูปตัวอย่าง / พิกัดรหัสสถิติ (HS2022)
8507.30.90.000/C62
8507.50.90.000/C62
8507.60.90.000/C62